การนำเครื่องมือที่เป็นเนื้อหาทางวิชาการเกี่ยวกับ “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” สู่การนำไปใช้ประโยชน์

499 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การนำเครื่องมือที่เป็นเนื้อหาทางวิชาการเกี่ยวกับ “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” สู่การนำไปใช้ประโยชน์

การนำเครื่องมือที่เป็นเนื้อหาทางวิชาการเกี่ยวกับ “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” สู่การนำไปใช้ประโยชน์

กลไกสำคัญหนึ่งในการดำเนินงานของโครงการ หลังจากได้เครื่องมือที่เป็นเนื้อหาทางวิชาการเกี่ยวกับความรอบรู้เรื่องสื่อ คือ การนำผลผลิตดังกล่าวไปสู่การใช้ประโยชน์ใน 3 ลักษณะ ได้แก่

          (1) การใช้ประโยชน์ในรูปแบบแผนการเรียนการสอนในรายวิชาสำหรับการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา

          (2) การใช้ประโยชน์ในรูปแบบคู่มือการสอนและให้ความรู้เกี่ยวกับความรู้เท่าทันสื่อ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน และทั้งในรายวิชาที่
เกี่ยวข้องโดยตรงหรือในรายวิชาที่มีเนื้อหาการเรียนรู้ใกล้เคียง โดยสอดแทรกในบางชั่วโมงหรือคาบเรียนของการเรียนการสอนทั้งระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา 

          (3) การใช้ประโยชน์ในรูปแบบคู่มือการจัด(สื่อ)กิจกรรมหรือการรณรงค์ให้ความรู้ เรื่อง ความรอบรู้เรื่องสื่อ ในลักษณะของการจัดกิจกรรมของกลุ่ม ชุมนุม หรือชมรมของเด็กและเยาวชน ทั้งในระดับมัธยม ศึกษาและระดับอุดมศึกษา

          ทั้งนี้ ขอบเขตการดำเนินงานของโครงการกำหนดให้มีการใช้ประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยเช่นนี้ จึงใช้เทคนิคกลยุทธ์การสร้างเครือข่ายผู้ใช้ประโยชน์จากแผนการเรียนรู้และหนังสือคู่มือ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงการประยุกต์ใช้การสื่อสารให้ความรู้แบบแม่ไก่ลูกไก่ (Training for the Trainer) ซึ่งให้ความสำคัญกับสื่อบุคคลและสื่อกิจกรรม เพื่อสร้างเครือข่ายที่มีโครงสร้างแบบ 2 ระดับ

คือสถาบันแกน (Node) หรือ “สถาบันแม่ไก่” และสถาบันดำเนินการ (Network) หรือ “สถาบันลูกไก่” ด้วยโครงสร้างดังกล่าว พบว่า มีการกำหนดบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยเครือข่ายให้เกิดการทำงานที่ประสานสอดคล้องสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชน

กระบวนการสื่อสารเครือข่ายแบบแม่ไก่และลูกไก่นี้ จะช่วยให้การใช้ประโยชน์ของแผนการเรียนรู้และหนังสือคู่มือทั้ง 5 เล่ม กระจายไปครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ของแต่ละภูมิภาคเป็นศูนย์กลางประจำแต่ละภูมิภาค (Node) โดยมีสถาบันแกน (Node) หรือ “สถาบันแม่ไก่” เป็นแม่ข่ายประจำภูมิภาค ดังนั้น โครงสร้างเครือข่ายการสื่อสารนี้จึงสามารถคลอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทยได้ และแบ่งออกเป็น 9 แม่ข่ายของแต่ละภูมิภาค ได้แก่ (1) ภาคเหนือตอนบน (2) ภาคเหนือตอนล่าง (3) ภาคใต้ตอนบน (4) ภาคใต้ตอนล่าง (5) ภาค

ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (6) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (7) ภาคกลาง (8) ภาคตะวันออก และ (9) ภาคตะวันตก ทั้งนี้ บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยแม่ข่ายประจำแต่ละภูมิภาค มี ดังนี้

บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของสถาบันแกน (สถาบันแม่ไก่)

สถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่มีสถานะเป็นแม่ข่ายหลักประจำภูมิภาค ซึ่งมีทั้งหมด 9 ภูมิภาคครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยสถาบันแกนนำหรือสถาบันแม่ไก่ต้องเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีที่ตั้งในพื้นที่ภูมิภาคนั้น รวมทั้งหมดทั่วประเทศจากทั้งหมด 9 ภูมิภาค ดังนั้น จึงมีสถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่ จำนวน 9 แห่ง แต่ละแห่งมี
โครงสร้างทีมงานที่เป็นคณะทำงาน จำนวน 5 คน ประกอบด้วย บุคลากรที่มีสถานะเป็นอาจารย์ จำนวน 2 คน และนักศึกษาในสถาบันการศึกษานั้น จำนวน 3 คน ดังนั้น เมื่อคำนวนสรุปทุกพื้นที่แม่ข่ายทั่วประเทศทั้ง 9 ภูมิภาค จะมีจำนวนทีมงานคณะทำงาน ทั้งสิ้น 45 คน ซึ่งมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ ดังนี้

          1) เข้ารับการอบรมหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับความรอบรู้เรื่องสื่อกับทางโครงการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชน เพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับสถาบันเครือข่ายหรือสถาบันลูกไก่ในพื้นที่ภูมิภาคของตน

          2) รับสมัครและคัดเลือกสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ในพื้นที่ภูมิภาคของตน จำนวน 7 แห่งประกอบด้วยสถาบันระดับอุดมศึกษา จำนวน 3 แห่ง และสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษา

จำนวน 3 แห่ง ทั้งนี้ สถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่ให้ถือเป็นอีก 1 สถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ด้วย

          3) จัดการอบรมหลักสูตรการศึกษาความรอบรู้เรื่องสื่อ ให้แก่สถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ในพื้นที่เครือข่ายของภูมิภาคตน ทั้งนี้ เพื่อนำหลักสูตรหรือแผนการเรียนรู้ เรื่อง “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” ไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนของแต่ละสถาบันการศึกษาจริง รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการปรับประยุกต์ใช้ในการรณรงค์และให้ความรู้ เรื่อง “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่เครือข่ายประจำแต่ละภูมิภาค

          4) ให้การสนับสนุน ติดตาม กระตุ้น และอำนวยความสะดวกให้แก่สถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ในพื้นที่เครือข่ายภูมิภาคของตน ในการจัดการเรียนการสอนตามแผนการเรียนรู้ รวมทั้งการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับความรอบรู้เรื่องสื่อ

          5) ประสานงานระหว่างสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ในพื้นที่ภูมิภาคของตนกับทางโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์โครงการที่เป็นพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการรอบรู้เรื่องสื่อของเด็กและเยาวชน

          อนึ่ง กระบวนการคัดเลือกและพิจารณาความเหมาะสมของสถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่นั้น ทางโครงการจะพิจารณาถึงคุณสมบัติหลักที่สำคัญ คือ ต้องเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ที่มีที่ตั้งและเปิดทำการเรียนการสอนในพื้นที่ภูมิภาคนั้นเท่านั้น ขณะเดียวกัน สถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่จะต้องมีความพร้อมในด้านศักยภาพพื้นฐาน อาทิ มีการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ด้านความรอบรู้เรื่องสื่อ รวมทั้ง ทีมคณะทำงานของแต่ละสถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่ต้องมีความสมัครใจและสามารถอุทิศเวลาให้กับการทำงานร่วมกับทางโครงการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชน ตามบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ข้างต้นได้

บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของสถาบันดำเนินการ (สถาบันลูกไก่)

สถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่เป็นสถาบันเครือข่ายในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ (9 ภูมิภาค) โดยแต่ละเครือข่ายของภูมิภาคต่าง ๆ ประกอบด้วยสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จำนวน 3 แห่ง และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา จำนวน 3 แห่ง รวมด้วยสถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่ ซึ่งมีสถานะร่วม คือ เป็นทั้งสถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่และสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่อีก 1 แห่ง รวมทั้งหมดเป็น 7 แห่งต่อ 1 เครือข่ายภูมิภาค ดังนั้น ในขอบเขตการทำงานของโครงการที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ จึงมีสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ทั้งหมด จำนวน 63 แห่ง โดยแต่ละแห่งจะมีโครงสร้าง

ทีมงานประจำแต่ละสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย บุคลากรที่เป็นครูหรืออาจารย์ประจำสถาบันการศึกษานั้น จำนวน 2 คน และบุคลากรที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาในสถาบันการศึกษานั้น รวมทั้งหมดจึงสรุปได้ว่า โครงการนี้มีบุคลากรหรือทีมงานที่ทำหน้าที่ในหน่วยของสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ทั่วประเทศ จำนวน 315 คน โดยมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบดังนี้

1) เข้ารับการอบรมหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับความรอบรู้เรื่องสื่อกับทางโครงการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชน ซึ่งจะจัดและดำเนินการโดยสถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่

2) นำหลักสูตรหรือแผนการเรียนรู้ เรื่อง “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” ไปใช้ประโยชน์ในสถาบันการศึกษาของตนด้วยการจัดการเรียนการสอนจริงตามกรอบเวลาที่โครงการกำหนด

3) ให้การสนับสนุนกลุ่มเด็กนักเรียนหรือชุมนุม/ชมรมของนักศึกษาในสถาบันการศึกษาของตนในในการรณรงค์และให้ความรู้ เรื่อง “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ขอบเขตของสถาบัน การศึกษาตนเอง รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางโครงการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชนจัดขึ้นให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการทำกิจกรรมรณรงค์และให้ความรู้ เรื่อง “ความรอบรู้เรื่องสื่อ”

4) ประสานงานกับทางสถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่ในพื้นที่เครือข่ายภูมิภาคของตน รวมทั้งทำงานร่วมกับสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ทั่วประเทศได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์โครงการที่เป็นพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการรอบรู้เรื่องสื่อของเด็กและเยาวชนในภาพรวม

อนึ่ง กระบวนการคัดเลือกและพิจารณาความเหมาะสมของสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่นั้น ทางโครงการให้เป็นดุลยพินิจของสถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่ในการพิจารณาคัดเลือก โดยทางโครงการได้กำหนดกรอบคุณสมบัติหลักที่สำคัญของสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ว่าต้องเป็นสถาบัน การศึกษาในพื้นที่ที่มีที่ตั้งและเปิดทำการเรียนการสอนในพื้นที่ภูมิภาคนั้นเท่านั้น พร้อมนี้สถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่จะต้องมีความพร้อมในด้านศักยภาพพื้นฐาน อาทิ มีการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ด้านความรอบรู้เรื่องสื่อ หรือมีการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาที่สามารถสอดแทรกรายวิชา ความรอบรู้เรื่องสื่อ ในการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาได้ รวมทั้ง ทีมคณะทำงานของแต่ละสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ ต้องมีความสมัครใจและสามารถอุทิศเวลาให้กับการทำงานร่วมกับทางโครงการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชน ตามบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ข้างต้นได้


ต่อกรณีแนวทางการดำเนินงานในรายละเอียดของกระบวนการขั้นตอนนี้ สรุปได้ว่า เป็นลักษณะของการดำเนินงานเพื่อสร้างเครือข่ายการสื่อสาร ให้ความรู้ อันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากผลผลิตของโครงการในขั้นตอนแรกซึ่งเป็นการสร้างเครื่องมือที่มีเนื้อหาทางวิชาการด้านความรอบรู้เรื่องสื่อ โดยกลไกที่สำคัญของการทำงานกระบวนการขั้นตอนนี้ คือ การคัดเลือกสถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่ เพื่อเป็นหน่วยประสานงานในแต่ละพื้นที่ภูมิภาค สร้างแม่ไก่ด้วยกระบวนการประชุม อบรม และสร้างความเข้าใจร่วมกัน หลังจากนั้นจึงให้สถาบันแม่ไก่ไปทำหน้าที่ในพื้นที่ภูมิภาคของตนเอง ด้วยการคัดเลือกสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ในพื้นที่ และจัดประชุม อบรมให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจร่วมกัน เพื่อนำหลักสูตรหรือแผนการเรียนรู้และหนังสือคู่มือ

ไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนในแต่ละสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ รวมทั้งการจัดกิจกรรมรณรงค์และให้ความรู้ด้านความรอบรู้เรื่องสื่อของเด็กและเยาวชน

จากแนวทางการดำเนินงานแบบแม่ไก่ลูกไก่ (Training for the Trainer) นี้ แสดงให้เห็นว่า นอกจากภารกิจหลักของเครือข่ายการสื่อสารและดำเนินการนี้มิใช่เพียงการนำผลผลิตที่เป็นความรู้ทางวิชาการไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนและการทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ทว่า ยังเป็นการสร้างเครือข่ายการดำเนินงาน เพื่อสานต่อการดำเนินงานให้เกิดการต่อยอดและขยายผลภารกิจการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในความรอบรู้เรื่องสื่อของเด็กและเยาวชน โดยมีเครื่องมือเสริม คือ ช่องทางการติดต่อ สื่อสารระหว่างเครือข่ายที่เป็นสื่อออนไลน์ อาทิ เว็ปไซต์ (Website) เฟซบุ๊ก (Facebook) และไลน์ (Line) เป็นต้น ด้วยการออกแบบเครือข่ายเช่นนี้ จะส่งผลให้เครือข่ายนี้เกิดการ ติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยน รวมทั้งมี การพัฒนาความต่อเนื่องเป็นพลวัตร และท้ายที่สุดก็จะเกิดความยั่งยืนในการพัฒนาตามภารกิจการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในความรอบรู้เรื่องสื่อของเด็กและเยาวชน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้