606 จำนวนผู้เข้าชม |
การส่งเสริมรณรงค์เกี่ยวกับ “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” แบบครบวงจรทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน
การดำเนินการในกระบวนการขั้นตอนนี้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรอบรู้เรื่องสื่อแบบครบวงจร กล่าวคือ ในกระบวนการขั้นตอนการนำเครื่องมือที่เป็นเนื้อหาทางวิชาการเกี่ยวกับ “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” สู่การนำไปใช้ประโยชน์ ก่อนหน้านี้ ได้ให้ความสำคัญกับการนำหลักสูตรหรือแผนการเรียนรู้ เรื่อง “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” ไปใช้ในการเรียนการสอนในห้องเรียนของแต่ละสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ทั้ง 63 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานนี้ถือเป็นการรณรงค์ให้ความรู้ในระบบการศึกษา มีครูอาจารย์เป็นผู้สอนตามแผนการเรียนรู้และมีนักเรียนนักศึกษาเป็นผู้เรียนตามเทคนิค วิธีการสอน และเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้เท่าทันสื่อของโครงการ ผ่านกลไกการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ และเรียนรู้เทคนิควิธีการจัดการเรียนการสอนแบบแม่ไก่ลูกไก่ที่มีสถาบันแกนเป็นสถาบันแม่ไก่และมีสถาบันดำเนินการเป็นสถาบันลูกไก่ โดยการส่งเสริมรณรงค์ในระบบหรือในห้องเรียนนี้อาจเกิดประโยชน์ในมิติการเรียนรู้ภาคบังคับ แต่ทว่า การเรียนรู้ในชีวิตประจำวันด้วยตนเองก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน ดังนั้นทางโครงการนี้จึงออกแบบให้เกิดการส่งเสริมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับความรอบรู้เรื่องสื่อนอกห้องเรียน ซึ่งเป็นลักษณะของการสร้างเครื่องมือทางวิชาการประเภทหนังสือคู่มือการผลิตและสร้างสรรค์(สื่อ)กิจกรรม เพื่อรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับความรอบรู้เรื่องสื่อ สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถนำกลยุทธ์
เทคนิค และหลักการปฏิบัติทางวิชาการดังกล่าวไปใช้ประโยชน์หรือปรับประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนผ่านรูปแบบของกิจกรรมกลุ่มของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและหรือกิจกรรมชุมนุม/ชมรมของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ขณะเดียวกันนี้ ทางโครงการได้ออกแบบให้มีการอบรมเสริมสร้างการเป็นผู้นำของเด็กและเยาวชน เพื่อให้ความรู้เชิงกลยุทธ์ เทคนิค และวิธีการปฏิบัติสำหรับการผลิตและสร้างสรรค์กิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ เรื่อง “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” ภายใต้ชื่อกิจกรรมที่ชื่อว่า “ค่ายเยาวชนรอบรู้เรื่องสื่อ” (Media Literacy Youth Camp) ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่มีการจัดการอบรมดังกล่าวแล้ว ทางโครงการนี้ยังได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนเครือข่ายของค่ายเยาวชนรอบรู้เรื่องสื่อ เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาทต่อทีม หรือต่อสถาบันดำเนินการ รวมทั้งสิ้น จำนวน 63 ทีม/สถาบันดำเนินการ ต่อจากนั้นยังมีการจัดกิจกรรมแสดงผลงานและการ
ประกวดแข่งขันผลงานที่ประสบความสำเร็จในระดับดีเด่น เพื่อเป็นแบบอย่างการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนของเด็กและเยาวชน สำหรับแนวทางการส่งเสริมรณรงค์นอกห้องเรียนเช่นนี้จะทำให้เด็กและเยาวชนได้ฝึกใช้ทักษะและความรู้เกี่ยวกับ “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” เพื่อประโยชน์ต่อคนกลุ่มอื่นและสังคมรอบข้าง อีกทั้งยังเป็น การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้จริงที่เด็กและเยาวชนมีโอกาสได้ศึกษา ออกแบบกิจกรรม และถ่ายทอดความรู้ให้กับสังคมในเชิงสร้างสรรค์กับตนเองและสังคมรอบข้าง
กิจกรรมที่สำคัญสำหรับการส่งเสริมรณรงค์เกี่ยวกับ “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” ในกระบวนการขั้นตอนนี้ ประกอบด้วย
1) การประชุมและอบรมให้ความรู้กับสถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่ กำหนดจัด จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จะเป็นการประชุมชี้แจง
รายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญของโครงการ การชี้แจงเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของสถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่ รวมทั้งแนะนำสถาบันเครือข่ายที่เป็นสถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่จากทุกภูมิภาค รวมทั้งหมด จำนวน 9 แห่ง สำหรับกิจกรรมครั้งที่ 2 จะเป็นการนำเสนอผลการคัดเลือกสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ในพื้นที่แม่ข่ายแต่ละภูมิภาค จำนวน 7 แห่งต่อหนึ่งพื้นที่ภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการนำหลักสูตรหรือแผนการเรียนรู้ เรื่อง “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” ไปใช้ในการเรียนการสอนของแต่ละสถาบันการศึกษา ซึ่งรูปแบบและเนื้อหาการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรหรือแผนการเรียนรู้นี้ สถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่จะต้องนำไปใช้ในการอบรมถ่ายทอดความรู้เรื่องนี้ให้กับสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ในพื้นที่เครือข่ายของภูมิภาคตนเอง
2) การประชุมและอบรมให้ความรู้กับสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ กำหนดจัด จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จะเป็นการประชุมชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญของโครงการ การชี้แจงเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ รวมถึงการแนะนำสถาบันเครือข่ายที่เป็นสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ทั้งหมด (7 แห่ง) ในพื้นที่เครือข่ายภูมิภาคของตน ซึ่งการดำเนินการหลักของการประชุมอบรมนี้จะดำเนินการโดยสถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่ของแต่ละพื้นที่ภูมิภาคของตน ส่วนกิจกรรมครั้งที่ 2 จะเป็นการนำเสนอแผนการดำเนินงานและแผนการจัดการเรียนการสอนของแต่ละสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ในแต่ละพื้นที่ความรับผิดชอบของตน รวมทั้งจัด การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการนำหลักสูตรหรือแผนการเรียนรู้ เรื่อง “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” เพื่อไปใช้ในการเรียนการสอนของแต่ละสถาบันการศึกษาที่เป็นสถาบัน ดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ในพื้นที่ภูมิภาคของตน โดยการดำเนินงานกิจกรรมครั้งที่ 2 นี้ จะจัดและดำเนินการโดยสถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่ในแต่ละพื้นที่ภูมิภาคเช่นเดียวกับการจัดกิจกรรม ครั้งที่ 1 ทั้งนี้ ทางโครงการอาจมีการสุ่มลงพื้นที่ช่วงการประชุมอบรมนี้ เพื่อกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ อย่างไร
3) การอบรมเสริมสร้างการเป็นผู้นำของเด็กและเยาวชน เพื่อให้ความรู้เชิงกลยุทธ์ เทคนิค และวิธีการปฏิบัติสำหรับการผลิตและสร้างสรรค์กิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ เรื่อง “ความรอบรู้เรื่องสื่อ” สำหรับกิจกรรมนี้ กำหนดจัด 1 ครั้ง โดยให้ทีมคณะทำงานของสถาบันดำเนินการหรือสถาบันลูกไก่ที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษา จำนวน 3 คนต่อ 1 สถาบัน เข้าร่วมกิจกรรมการอบรมนี้ ซึ่งการอบรมนี้จัดในรูปแบบของกิจกรรมค่าย ใช้ชื่อว่า “ค่ายเยาวชนรอบรู้เรื่องสื่อ” (Media Literacy Youth Camp) จัดตามพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 9 ครั้ง (1 ภูมิภาคต่อ 1 ครั้ง) โดยเนื้อหาหรือกิจกรรมย่อยระหว่างการดำเนินงานกิจกรรมค่ายเยาวชนรอบรู้เรื่องสื่อนี้ ประกอบด้วย กิจกรรมการชี้แจงรายละเอียดและรูปแบบการส่งเสริมรณรงค์เกี่ยวกับความรอบรู้เรื่องสื่อของเด็กและเยาวชนตามกรอบแนวทางการดำเนินงานของโครงการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชน อาทิ การให้งบประมาณสนับสนุนเพื่อการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนผ่านกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนผ่านชุมนุม/ชมรมของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา การจัดกิจกรรมแสดงนิทรรศการและผลงานในการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับความรอบรู้เรื่องสื่อของเด็กและเยาวชน โดยมีกิจกรรมที่เป็นการจัดกิจกรรมพิเศษในพื้นที่จริง (Onsite Event) และการจัดกิจกรรมพิเศษในพื้นที่ออนไลน์ (Online Event) ขณะเดียวกันก็มีการจัดกิจกรรมการแข่งขันให้รางวัลกับกลุ่ม/ชุมนุม/ชมรมที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นในแต่ละระดับ ทั้งระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา และสำคัญที่สุด คือ กิจกรรมค่ายเยาวชนรอบรู้เรื่องสื่อ มีการอบรมให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนเกี่ยวกับการผลิตและสร้างสรรค์กิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับความรอบรู้เรื่องสื่อในเชิงกลยุทธ์ เทคนิค และวิธีการปฏิบัติที่ดี ทั้งนี้ ผลผลิตจากกิจกรรมนี้ กำหนดเป้าหมายให้เกิดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับความรอบรู้เรื่องสื่อ จำนวน 63 ผลงาน และมีการดำเนินงานจริงครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย เกิดการสร้างประสบการณ์ ทักษะ และพัฒนาความรู้ของเด็กและเยาวชนในด้านความรอบรู้เรื่องสื่อ
4) กิจกรรมการแสดงผลงานของเด็กและเยาวชนในการทำกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับ ความรอบรู้เรื่องสื่อ สำหรับกิจกรรมนี้กำหนดให้สถาบันแกนหรือสถาบันแม่ไก่ในแต่ละพื้นที่ภูมิภาคเป็น ผู้กำหนดสถานที่ วันและเวลาในการแสดงผลงานหรือนิทรรศการ โดยมีกรอบว่า การแสดงผลงานดังกล่าวต้องกระจายจัดในพื้นที่ภูมิภาคของตนเองเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 7 วัน และการแสดงนิทรรศการหรือผลงานดังกล่าวจะต้องนำเสนอผ่านช่องทางที่เป็นพื้นที่จริงตามภูมิศาสตร์ (Onsite) และพื้นที่ออนไลน์ (Online) ที่เป็นเว็ปไซต์ของโครงการหรือสื่อออนไลน์อื่นตามความเหมาะสม และการแสดงผลงานดังกล่าวจะต้องมีผลงานในการประกวดหรือนำเสนออย่างน้อย 7 ผลงานในแต่ละพื้นที่ภูมิภาคเครือข่ายการดำเนิน งานของโครงการ ทั้งนี้ ทุกผลงานซึ่งรวมทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน (อย่างน้อย) 63 ผลงาน จะถูกประเมินความสำเร็จเพื่อรับรางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับมัธยมศึกษาและระดับ อุดมศึกษา
ทางโครงการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชนคาดหวังว่า ผลผลิตจากการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสทำกิจกรรมนอกห้องเรียนผ่านกิจกรรมกลุ่ม/ชุมนุม/ชมรมนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชนในการทำกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับความรอบรู้เรื่องสื่อ ขณะที่ผลงานที่มีคุณภาพและถูกประเมินว่าดีเด่นจะเป็นต้นแบบการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ให้กับสังคมประเทศชาติ